วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ทวีปแอฟริกา

ทวีปแอฟริกา (Africa)





ข้อมูลทั่วไป

ทวีปแอฟริกา (ภาษาอังกฤษ: Africa) เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย ทั้งในแง่ของพื้นที่และจำนวนประชากร มีพื้นที่ 30,244,050 ตารางกิโลเมตร รวมหมู่เกาะที่อยู่ใกล้ หรือคิดเป็นพื้นที่ 20.3% ของพื้นดินบนโลก และมีประชากรรวมมากกว่า 800 ล้านคนใน 54 ประเทศ คิดเป็น 1 ใน 7 ของประชากรทั่วโลก โรมันโบราณเรียกตอนเหนือของทวีปนี้ว่า ดินแดนแอฟริกา (Africa terra) ปัจจุบันคือประเทศตูนิเซีย ซึ่งเคยเป็นมณฑลแอฟริกาของโรมัน
ทวีปแอฟริกาแบ่งออกได้เป็น 5 ภูมิภาคคือ เหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก และตะวันตก


อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ จดกับช่องแคบยิบรอลตาร์และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
- ทิศตะวันออก จดกับมหาสมุทรอินเดียและคลองสุเอซ
- ทิศใต้ จดกับมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย
- ทิศตะวันตก จดกับมหาสมุทรแอตแลนติก และอ่าวกินี


ลักษณะภูมิประเทศ
จุดเด่นของทวีปแอฟริกาคือ มีที่ราบสูงถึง 2 ใน 3 ของทวีป โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกของทวีป เป็นที่ราบสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1,500 - 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีแนวภูเขาไฟที่ดับแล้ว มีแนวทะเลสาบขนาดใหญ่ แล้วจะลาดต่ำไปทางตะวันตก มีเกาะมาดากัสการ์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทวีป


เทือกเขา แบ่งออกเป็น 2 แนว
- เขตภูเขาทางภาคเหนือ เป็นเขตเทือกเขาเกิดใหม่อายุราวพอ ๆ กับเทือกเขาแอลป์ ในทวีปยุโรป เรียกว่า เทือกเขาแอตลาส ขนานไปกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเขตพื้นที่ประเทศโมร็อกโก แอลจีเรีย และตูนิเซีย
- เขตภูเขาทางภาคใต้ ได้แก่ เทือกเขาดราเคนสเบิร์ก ในประเทศแอฟริกาใต้และเลโซโท
ทะเลทราย แบ่งเป็น 2 เขตคือ
- ทะเลทรายตอนเหนือ ได้แก่ ทะเลทรายสะฮาราซึ่งเป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และทะเลทรายลิเบีย บริเวณนี้จะเกิดลมร้อนในทะเลทรายสะฮารา เรียกว่า ซิร็อกโก'
- ทะเลทรายตอนใต้ ได้แก่ ทะเลทรายนามิบและทะเลทรายกาลาฮารี


แม่น้ำ
- แม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในโลก ต้นน้ำคือทะเลสาบวิกตอเรีย ไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
- แม่น้ำคองโก เป็นแม่น้ำเขตศูนย์สูตร ไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติก
- แม่น้ำไนเจอร์ อยู่ในส่วนแอฟริกาตะวันตก ต้นน้ำอยู่ที่ประเทศเซียร์ราเลโอน ไหลลงสู่อ่าวกินี
- แม่น้ำแซมเบซี อยู่ทางด้านตะวันออกของทวีปมีแอ่งน้ำตก น้ำค่อนข้างไหลเชี่ยว ไหลลงมหาสมุทรอินเดีย ที่ประเทศโมซัมบิก
กระแสน้ำในมหาสมุทร
กระแสน้ำเย็นคะเนรี
กระแสน้ำอุ่นกินี
กระแสน้ำเย็นเบงเกลา
กระแสน้ำอุ่นโมซัมบิก


ภูมิอากาศ
ส่วนใหญ่จะมีทะเลทราย อากาศแห้งแล้ง ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรในทวีป ส่วนมากจะอยู่ทางตอนเหนือสุดและใต้
สุดของทวีป ซึ่งมีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน มีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา อยู่บริเวณตอนเหนือและใต้แนวศูนย์สูตร


เขตภูมิอากาศของแอฟริกาแบ่งออกเป็น 6 เขต
1. ภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น (Tropical Rainforest Climate) เป็นเขตที่มีอากาศร้อนและฝนตกชุกพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าทึบ หรือป่าดงดิบ ได้แก่ บริเวณชายฝั่งรอบอ่าวกินี ลุ่มแม่น้ำคองโก เขตที่สูงในแอฟริกาตะวันออก และฝั่งตะวันตกของเกาะมาดากัสการ์
2. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Savanna Climate) เป็นเขตอากาศที่มีฝนตกชุกในฤดูร้อนและแห้งแล้งในฤดูหนาว พืชพรรณธรรมชาติเป็นต้นไม้สลับทุ่งหญ้า ได้แก่ บริเวณตอนเหนือและตอนใต้ของแนวศูนย์สูตร ซึ่งอยู่รอบๆ เขตป่าดิบชื้น
3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย (Desert Climate) เป็นเขตที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งมากที่สุด มีฝนตกน้อยกว่า 10 นิ้วต่อปี พืชพรรณธรรมชาติมีอยู่บ้าง เช่น อินทผลัม ตะบองเพชร ได้แก่ บริเวณตอนเหนือของทวีป มีทะเลทรายสะฮาราและทะเลทรายลิเบีย ซึ่งมีอาณาเขตต่อเนื่องกัน มีเนื้อที่ประมาณ 9 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 30 ของเนื้อที่ทั้งทวีป และเป็นเขตทะเลทรายที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนทางตอนใต้มีทะเลทรายคาลาฮารี และทะเลทรายนามิบ
4. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย (Steppe Climate) เป็นเขตที่มีอากาศไม่แห้งแล้งมากเหมือนในเขตทะเลทราย มีฝนตกไม่เกิน 15 นิ้วต่อปี พืชพรรณธรรมชาติ เป็นทุ่งหญ้าสั้น(สเตปป์) ได้แก่ บริเวณตอนกลางของทวีปและตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรระหว่างละติจูด 10-30 องศาใต้ ด้านชายฝั่งตะวันตกของทวีป
5. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Climate) เป็นภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อนและแห้งแล้ง มีแดดจัด ฤดูหนาวอบอุ่นและมีฝนตกค่อนข้างชุก ภูมิอากาศแบบนี้มีอยู่ 2 บริเวณ คือ ทางตอนเหนือที่เรียกว่า ชายฝั่งบาร์บารี ได้แก่ บริเวณชายฝั่งของประเทศโมร็อกโก ตูนิเซีย กับทางตอนใต้ ได้แก่ คาบสมุทรภาคใต้ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
6. ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Humid Subttropical Climate) เป็นภูมิอากาศชื้นกึ่งร้อน เป็นเขตที่มีฝนตกมากในฤดูร้อน ฤดูหนาวอากาศอบอุ่น เนื่องจากมีกระแสน้ำอุ่นโมซัมบิกไหลผ่าน พบในบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และภาคใต้ของประเทศโมซัมบิก


ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม
ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศอียิปต์ปัจจุบัน เป็นแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว ได้แก่ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ สิ่งที่แสดงถึงอารยธรรมของชาวอียิปต์โบราณ ได้แก่ การชลประทาน ที่สามารถนำน้ำจากแม่น้ำไนล์มาใช้ในการเกษตร ทำให้สามารถเพระปลูกได้ปีละ2-3 ครั้ง การสร้างพีระมิด เป็นที่เก็บศพของนักปกครองและนักรบ การทำมัมมี่ ซึ่งสามารถเก็บรักษาศพมนุษย์ได้เป็นพันๆ ปี โดยไม่เน่าเปื่อย การสร้างสฟิงซ์ โดยแกะสลักหินเป็นรูปสิงโตหมอบมีหน้าเป็นคน แพะ และเหยี่ยวไว้เป็นสิ่งเคารพ การทำปฏิทิน โดยกำหนดให้มีปีละ 365 วัน และเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน การเขียน ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวต่างๆ ไว้ที่ฝาผนังที่ฝั่งศพ การเขียนสัญลักษณ์และรูปภาพแทนคำพูด ที่เรียกว่า อักษรไฮโรกลีฟิก การทำกระดาษ จากต้นพาไพรัส ซึ่งเป็นต้นกกชนิดหนึ่งในเขตลุ่มน้ำไนล์


ต่อมาประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 12 พวกอาหรับซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้ขยายอำนาจ
จากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้้และนำอารยธรรมมุสลิมเข้าสู่ทวีปแอฟริกาหลายอย่าง เช่น ศาสนาอิสลาม
ภาษาอาหรับ สภาพความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิต เป็นต้น ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 22 วาสโก ดากามา (Vasco da Gama) ชาวโปรตุเกส ได้เกิดเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปเข้าสู่แอฟริกาตะวันออก และนับตั้งแต่นั้นมา
การสำรวจทวีปแอฟริกาของชาวยุโรปก็ได้เริ่มขึ้น และชาวยุโรปได้ขยายอิทธิพลของตน เข้ายึดครองดินแดนต่างๆ
ไว้เป็นอาณานิคม กระทั่งถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาจึงได้รับเอกราช
ให้ปกครองตนเอง


สภาพทางเศรษฐกิจ
เกษตรกรรม แบ่งเป็น
- การเพาะปลูกแบบยังชีพ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวเจ้า มันเทศ มันสำปะหลัง
- การทำไร่ขนาดใหญ่ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ชา ป่านศรนารายณ์ โกโก้
- การเกษตรกรรมแบบผสม (Mix Farming)
- การเกษตรแบบเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น องุ่น มะกอก

ทวีปแอฟริกาส่ง โกโก้ ออกขายมากที่สุดในโลก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เป็นประเทศเดียวในแอฟริกาที่ส่ง เพชร ออกขายมากที่สุดในโลก และ ยังมีทองคำ ทองแดง ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ


ประชากร
ทวีปแอฟริกามีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากทวีปเอเชีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดคือประเทศไนจีเรีย รองลงมาคือ ประเทศอียิปต์ อัตราการเพิ่มของประชากรสูง ความหนาแน่น 22 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร


เชื้อสายของประชากร
- นิกรอยด์ หรือเรียกว่า แอฟริกันนิโกร เป็นชนกลุ่มใหญ่สุดของทวีป โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ
- บันตู อยู่ในแถบแอฟริกาตะวันออก กลาง และใต้ เช่น เผ่าคิคูยู วาตูซี มาไซ
- ซูดานนิโกร อยู่ในแถบแอฟริกาตะวันตกและทะเลทรายสะฮารา
- ปิกมี บริเวณลุ่มแม่น้ำคองโก

- บุชแมนและฮอตเทนทอต บริเวณทะเลทรายกาลาฮารี
- คอเคซอยด์ มาจากคาบสมุทรอาหรับ อยู่ในแถบอียิปต์และซูดาน และ จากชาวยุโรป บริเวณแหลมกู๊ดโฮป และตอนเหนือของทวีป


ภาษา
ภาษา ในทวีปแอฟริกามีภาษาพูดอยู่ไม่น้อยกว่า 1,000 ภาษา ทั้งนี้เนื่องจากเป็นทวีปที่มีประชากรอยู่หลายเผ่าพันธุ์ แต่อาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม

1) กลุ่มภาษาเซมิติก ได้แก่ ภาษาอาหรับ เป็นภาษาของคนส่วนใหญ่ในแอฟริกาเหนือ และบางส่วนในแอฟริกาตะวันออก ส่วนกลุ่มภาษาเซมิติกของชาวยุโรปเป็นภาษาของเจ้าอาณานิคมที่เข้ามาปกครอง เป็นภาษที่ใช้กันแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ และภาษาดัตช์

2) กลุ่มภาษาซูดาน เป็นภาษาของประชากรในประเทศต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา

3) กลุ่มภาษาบันตู เป็นภาษาของประชากรในประเทศต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลางและภาคตะวันออกของทวีป รวมทั้งบางประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ด้วย

4) กลุ่มภาษาเฮาซา เป็นกลุ่มภาษาทางการค้าของประชากรทางภาคตะวันตกของทวีป


ศาสนา
ประชากรส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกายังมีความเชื่อและปฏิบัติตามความเชื่อนั้นสืบต่อกันตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน
เช่น เรื่องจิตวิญญาณ อำนาจของดวงดาว ภูเขา ต้นไม้ สิ่งมหัศจรรย์ เป็นต้น ส่วนศาสนาที่นับถือกันมาก ได้แก่ ศาสนาคริสต์ มีผู้นับถือมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ศาสนาอิสลาม นอกจานี้ยังมีชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาใหม่นับถือศาสนาฮินดูและศาสนายิงก็มีผู้นับถืออยู่บ้าง


การศึกษา
แอฟริกาเป็นทวีปที่ยากจนและต้องพัฒนาทางด้านวิทยากรสมัยใหม่ แม้ความก้าวหน้าในโลกปัจจุบัน จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้ประชากรและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องยกระดับและขยายการศึกษาให้ทั่วถึง แต่การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์และขัดสนทางด้านเศรษฐกิจในเกือบทุกประเทศ ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาการศึกษา นั่นคือประเทศที่ยากจน อัตราส่วนการรู้หนังสือของประชากรจะต่ำ เช่น เอธิโอเปีย มาลี ไนเจอร์ มีผู้อ่านออกเขียนได้เพียงร้อยละ 24,25,28 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้และแทนซาเนีย มีสภาพเศรษฐกิจดีกว่าประเทศทั้งสามนี้มีอัตราส่วนของผู้รู้หนังสือสูงร้อยละ 60 และ 85 เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น